ความเป็นมาของเรือนไทยพวน อำเภอบ้านผือ
จังหวัดอุดรธานี
1. ความเป็นมาของเรือนไทยพวน
บนแผ่นดินที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “อีสาน” นั้นมีประวัติการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาเนิ่นนานหลายพันปี ดังปรากฏหลักฐานทางโบราณคดี และโบราณวัตถุที่สามารถสืบค้นและระบุถึงอายุได้ การสร้างบ้านเรือนก็คงเริ่มมีมาตั้งแต่มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ แล้วได้วิวัฒนาการต่อเนื่องกันมาหลายยุค หลายสมัย
จนมาปรากฏเป็นรูปแบบที่ถาวรมั่นคง และคงเหลือไว้เป็นหลักฐาน ชาวไทยพวนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ไท-ลาว
กลุ่มหนึ่งที่มีภูมิลำเนาอยู่บริเวณภาคเหนือของลาวที่เรียกว่า เมืองพวนหรือแขวงเชียงขวาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน มีประเพณีและวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มของตนเอง จนสามารถตั้งตัวเป็นอาณาจักรเล็ก ๆ อยู่ทางตอนเหนือที่ติดเวียดนามและลาว ซึ่งมักจะตกอยู่ในอำนาจภายใต้อิทธิผลของลาวและเวียดนามเพราะมีกำลังที่ด้อยกว่าจำเป็นต้องส่งเครื่องบรรณการให้แก่อาณาจักรทั้งสองอยู่เสมอ ถ้าหากมีกำลังเข้มแข็งก็ประกาศตนเป็นเอกราช
มีพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ครองราชย์สืบต่อกันมา จนถึงอาณาจักรลาวถูกแบ่งแยกเป็นสองอาณาจักร และเมื่ออาณาจักรเข้าไปมีอิทธิพล อาณาจักรพวนก็ต้องส่งเครื่องบรรณาการด้วยเช่นกัน ชาวพวนมักจะถูก ลาว เวียดนาม และไทย
กวาดต้อนผู้คนเข้าไปอยู่ในเขตอิทธิพลของพวกเขา จนกระทั่งคนพวนที่มีอยู่ในแขวงเชียงขวางในปัจจุบันมีน้อยกว่าคนพวนที่อย่าภายในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็สืบเนื่องมาจากผลแห่งสภาวะของสงคราม ในภูมิภาคแถบนี้ตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะสงครามระหว่างไทยกับลาว ส่งผลให้ชาวไทยพวนถูกกวาดต้อนและอพยพเข้าสู่ประเทศไทยหลายต่อหลายครั้ง และปักถิ่นฐานในประเทศไทย เกือบทุกภาค
การอพยพของชาวไทยพวนเข้าสู่ประเทศไทยยังคงดำเนินต่อไป ดังเช่นในปี
พ.ศ. 2369 เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์พยายามตั้งตนเป็นอิสระ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นแม่ทัพหลวงยกทัพไปปราบปรามจนราบคาบ
ได้กวาดต้อนรับครอบครัวลาว แล้วโปรดเกล้าฯ ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองชัยนาท รวมถึงหัวเมืองชายทะเลตะวันออก เช่น เมืองนครไชยศรี เมืองสุพรรณบุรี เมืองสระบุรี
และเมืองลพบุรี
(หอสมุดแห่งชาติ. 2507 ก : 344)
การอพยพไทยพวนเข้าสู่ประเทศไทย
มีสาเหตุสำคัญจากศึกสงครามระหว่างอาณาจักรลาว เมื่อไทยเป็นฝ่ายชนะในศึกก็จะทำการกวาดต้อนผู้คนเข้ามาในประเทศไทย ทั้งนี้เนื่องมาจากแรงงานเป็นปัจจัยที่สำคัญในการผลิต นอกจากนี้การกวาดต้อนผู้คนเป็นนโยบายทางด้านยุทธศาสตร์ เนื่องจากเมืองพวนเป็นดินแดนที่ญวนใช้เป็นทางผ่านเข้ามาขยายอาณาจักรในเขตลาว เมื่อไทย
ไม่มีกำลังพอที่จะควบคุมเมืองประเทศราชได้จึงใช้วิธีกวาดต้อนชาวไทยพวนและชนชาติอื่นในเมืองพวนข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาโดยไม่ทิ้งไว้ให้เป็นกำลังของข้าศึกคือญวน (จีระนันท์
พิตรปรีชา. 2529 : 110-120) นอกจากนี้การกวาดต้อนเชลยศึกกลับประเทศไทยยังเป็นการทอนกำลังฝ่ายข้าศึกในการทำสงครามในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการทดแทนจำนวนพลที่สูญเสียไปในระหว่างการสู้รบอีกด้วย
การเคลื่อนย้ายของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวน
ชาวพวนเป็นชนกลุ่มหนึ่ง เดิมมีถิ่นฐานอยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงตอนเหนือของประเทศลาวบริเวณซำเหนือ (วิเชียร
วงศ์วิเศษ. 2517 : ไม่มีเลขหน้า) ปัจจุบันนี้คือ เมืองพวนแขวงเมืองเชียงขวางในประเทศลาว ลักษณะภูมิประเทศของเมืองพวนจะเป็นที่ราบสูง มีภูเขาสลับซับซ้อน ที่ดินอุดมสมบูรณ์ อากาศเย็น
เป็นต้นกำเนิดของน้ำงึม น้ำเนียหรือน้ำเนียบและน้ำซันที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง อาณาบริเวณใกล้เคียงเมืองพวนประกอบด้วยเมืองสำคัญ คือ เมืองเชียงขวาง เมืองคำ
เมืองแสน เมืองสุย เมืองโมก
เมืองกางและเมืองเสียง เมืองพวนมีเขตแดนติดต่อกับญวนทางตะวันตก ติดต่อกับแดนไทยสิบสองปันนา ซึ่งขึ้นกับพม่าทางใต้ติดกับกรุงศรีสัตนาคนหุตหรือ
ล้านช้าง เมื่อกรุงศรีสัตนาคนหุตมีอำนาจได้รวมแคว้นสิบสองจุไทยรวมทั้งเมืองพวนเข้าไว้
ในอาณาจักรของตน ต่อมากรุงศรีสัตนาคนหุตอ่อนอำนาจลง การปกครองหัวเมืองอยู่ห่างไกล
ก็มีน้อยลงตามไปด้วย จนกระทั่งในที่สุดกรุงศรีสัตนาคนหุตแยกออกเป็นสองอาณาเขต คือ
หลวงพระบาง และเวียงจันทน์ เมืองพวนจึงแยกไปขึ้นกับนครเวียงจันทน์นับแต่นั้นมา (ถวิล
เกษราช. 2512 : 342-344)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น